วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บทที่ 8
ศัพท์ทางด้านคอมพิวเตอร์
• กล่าวนำทั่วไป
ศัพท์ทางด้านคอมพิวเตอร์ ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษา และทำความเข้าใจในเรื่องของคอมพิวเตอร์ ในบทนี้ผู้เขียนได้รวบรวมเอาศัพท์ต่าง ๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต้องรู้ในขั้นต้นนี้เอาไว้ โดยจะเรียงลำดับจาก A ไปถึง Z (เพื่อง่ายต่อการค้นหา) แต่ขอย้ำว่าเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีศัพท์ทางด้านคอมพิวเตอร์อีกมากมายที่ท่านจะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป

• add-on อุปกรณ์เสริม
อุปกรณ์ที่ต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นกว่าเดิม หรือเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งเพิ่มเติมภายหลัง เช่น แผ่นวงจรโมเด็ม หรือหน่วยขับซีดี-รอมที่มิได้ติดตั้งมาพร้อมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ตอนแรก
• application software ซอฟต์แวร์ประยุกต์
โปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่ผู้ใช้ออกแบบและเขียนขึ้นเอง เพื่อสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ ทำงานตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ (ซึ่งต่างกับซอฟต์แวร์ระบบที่ควบคุม ระบบการทำงานของเครื่องเป็นหลัก)
• auxiliary memory หน่วยความจำช่วย
หน่วยความจำช่วยหรือหน่วยความจำเสริม ได้แก่ ตัวเก็บข้อมูลภายนอกเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น แผ่นดิสก์ และฮาร์ดดิสก์ เป็นต้น เป็นวัสดุที่สามารถเก็บข้อมูลไว้ใช้ได้ปริมาณมาก เพราะบางครั้งถ้ามีข้อมูลจำนวนมาก เราไม่สามารถเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ได้ จึงต้องเก็บไว้ในวัสดุต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วจึงนำมาใช้งานได้ในครั้งต่อ ๆ ไป มีความหมายเช่นเดียวกับ secondary storage
• batch processing การประมวลผลเชิงกลุ่ม
การประมวลผลโดยมีการรวบรวมข้อมูลเอาไว้เป็นกลุ่มให้เรียบร้อยก่อน แล้วนำกลุ่มข้อมูลเหล่านั้นไปประมวลผลอย่างต่อเนื่องในคราวเดียวกัน ในระหว่างการประมวลผลนี้ ผู้ใช้ต้องปล่อยให้เครื่องดำเนินการประเมินผลไปจนเสร็จได้ผลลัพธ์ออกมา โดยไม่มีการโต้ตอบกันระหว่างผู้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด ตรงข้ามกับการประเมินผลแบบเชื่อมตรง (on-line processing) ซึ่งสามารถป้อนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ตลอดเวลา
• bookmark บุ๊กมาร์ก, ที่คั่นหนังสือ
โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึง รหัสหรือเครื่องหมายที่สอดแทรกไว้ในจุดต่างๆ ของเอกสารเพื่อให้ง่ายในการค้นหาในภายหลัง เช่น ทำเครื่องหมายไว้ในย่อหน้าที่ต้องการจะแก้ไข เป็นต้น ในเนตสเคป (Netscape) หรือการเลือกอ่านในเว็บ บุ๊กมาร์กจะเป็นรายการเลือกที่รวมชื่อที่ตั้งต่างๆ ในเวิลด์ไวด์เว็บที่เราต้องการจะใช้ โดยการเลือกที่ตั้งที่ต้องการ แล้วใส่รวมไว้ในรายการเลือกนี้เพื่อสามารถเลือกใช้ ได้อย่างรวดเร็วในภายหลังโดยไม่ต้องหาที่ตั้งที่ต้องการนั้นๆ ให้เสียเวลาอีก
• byte ไบต์
กลุ่มเลขฐานสองจำนวน 8 บิต ใช้แทนตัวเลข ตัวอักษร หรืออักขระพิเศษ 1 ตัว เช่น 01000001 ใช้แทนตัวอักษร A เป็นต้น ความจำของคอมพิวเตอร์และเนื้อที่ในจานบันทึกจะใช้หน่วยวัดเป็นไบต์ ได้แก่ กิโลไบต์ (Kilobyte : KB), เมกะไบต์ (Megabyte : MB), จิกะไบต์ (Gigabyte : GB), และเทระไบต์ (Terabyte : TB)
• card แผ่นวงจร
แผ่นหรือแผงวงจรไฟฟ้า ที่เสียบอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แผ่นนี้จะมีทางต่อเข้า/ออกมากกว่า 1 ทาง เพื่อให้ต่ออุปกรณ์อื่นๆ เข้ากับคอมพิวเตอร์ได้ เช่น แผ่นวงจรภาพ (video graphics card) จะเป็นแผ่นที่ให้เสียบจอภาพพิเศษ ในลักษณะจอภาพวีดิทัศน์ (video screen) เพื่อใช้กับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
• CD-ROM drive หน่วยขับซีดี-รอม
อุปกรณ์ร่วมใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับเล่นแผ่นซีดี-รอม มีทั้งหน่วยขับแบบ “internal” เป็นหน่วยขับภายในที่ติดตั้ง ในเครื่องคอมพิวเตอร์ และแบบ “external” เป็นเครื่องเล่นภายนอกที่แยกต่างหากจากเครื่องคอมพิวเตอร์
• central processing unit (CPU) หน่วยประมวลผลกลาง (ซีพียู)
หน่วยเก็บที่อยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นหน่วยสำคัญที่สุดเปรียบได้กับสมองของคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของหน่วยต่างๆ ให้ทำงานประสานสอดคล้องกัน หน่วยประมวลผลกลางแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนโดยประกอบรวมกันอยู่บนชิปเล็กๆ เพียงชิ้นเดียว เรียกว่า “ไมโครโพรเซสเซอร์” (microprocessor) ส่วนต่างๆ เหล่านี้ได้แก่
1. หน่วยเรจิสเตอร์ (register) ทำหน้าที่เก็บข้อมูลที่ส่งจากหน่วยความจำหลักและข้อมูลที่จะนำไปใช้ประมวลผล
2. หน่วยคำนวณและตรรกะ (arithmetic and logical unit : ALU) ทำหน้าที่ประมวลผลด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ และตรรกะ
3. หน่วยควบคุม (control unit) ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานทุกส่วนของเครื่องคอมพิวเตอร์ ได้แก่ ส่วนรับข้อมูลส่วนประมวลผลกลาง และส่วนแสดงผล ให้ทำงานสอดคล้องกัน
• chip ชิป
เป็นชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งของวงจรรวม (integrated circuit : IC) ชิปเป็นวงจรไฟฟ้าขนาดจิ๋วทำด้วย คริสตัลซิลิคอน (silicon crystal) หรือวัสดุอื่นก็ได้ที่ผลิตออกมา เพื่อการทำงานในลักษณะเดียวกับทรานซิสเตอร์หรือส่วนประกอบทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น เป็นจำนวนหลายแสนหรือหลายล้านตัวชิปมีขนาดเล็กกว่าปลายเล็บนิ้วมือคนเราก็จริงแต่ด้วยเทคนิคการผลิตในปัจจุบัน ทำให้สามารถบรรจุส่วนประกอบทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้มากถึง 16 ล้านส่วนทีเดียว ด้วยความสามารถดังกล่าวนี้ จึงทำให้มีการผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ เพื่อสามารถพกพาไปทำงานในที่ต่างๆ ได้โดยสะดวก
database ฐานข้อมูล
การรวบรวมข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันเกี่ยวกับหัวข้อที่ได้ทำให้เป็นระบบ และจัดให้เป็นฐานสำหรับการค้นคืนข้อมูล การสรุปผล และการตัดสินใจ การรวบรวมข้อมูลใดๆ ก็ตามเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้ นับว่าเป็นฐานข้อมูลทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รวบรวมอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ตาม
• default โดยปริยาย
สิ่งหรือค่าที่เครื่องคอมพิวเตอร์กำหนดให้โดยอัตโนมัติ โดยอาจเป็นแบบอักษรหรือค่าหน่วยวัด เป็นต้น ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ของสิ่งที่กำหนดไว้นั้นคอมพิวเตอร์จะใช้สิ่งที่กำหนดไว้ในการทำงานให้
• domain เขต
เขตในเลขที่อยู่ของอินเทอร์เน็ต ระดับความสำคัญของเขตจะดูจากขวาไปซ้าย เขตขวาสุดซึ่งอยู่หลังสุด ของเลขที่อยู่จะเป็นเขตระดับสูงสุด (top-level domain) ซึ่งจะครอบคลุมชื่อทางซ้าย เขตขวาสุดจะบอกถึงระดับประเทศ และเขตซ้ายสุด จะบอกชื่อเครื่อง โดยแต่ละเขตจะมีจุด . แบ่งระดับชื่อเขต ตัวอย่างเช่น
SIGNAL.RTA.MI.TH
TH ชื่อเขตระดับสูงสุดซึ่งเป็นชื่อประเทศไทย (Thailand)
MI ระดับรองลงมา ในที่นี้หมายถึง กองทัพ (Military)
RTA ชื่อหน่วยงาน หรือองค์กร ในที่นี้หมายถึง กองทัพบกไทย (Royal Thai Army)
SIGNAL ชื่อเครื่องซึ่งอยู่ในเขตระดับต่ำสุดและเป็นชื่อเฉพาะ ในที่นี้คือกรมการทหารสื่อสาร
ตามมาตรฐานสากล เขตระดับสูงสุดที่บ่งบอกถึงประเภทขององค์กรด้านต่าง ๆ ได้แก่
เขต ความหมาย
.com การพาณิชย์ (commercial)
.edu การศึกษา (educational)
.gov รัฐบาล (goverment)
.mi การทหาร (military)
.org องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (non-profit organization)
.net ข่ายงาน (network)
แต่บางครั้ง เขตในระดับสูงที่สุดจะเป็นชื่อของประเทศ เช่น ประเทศไทย .th , แคนาดา .ca เป็นต้น

• domain name ชื่อเขต
ชื่อซึ่งระบุที่อยู่ของคอมพิวเตอร์ (host) ที่เชื่อมโยงในระบบอินเทอร์เน็ต โดยเป็นชื่อสมบูรณ์ของที่ตั้งของอินเทอร์เน็ตนั้น อันประกอบด้วย ชื่อของคอมพิวเตอร์ที่ติดต่อเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต (host name) เขตย่อย (subdomain) และเขตระดับสูงสุด (domain) โดยสิ่งเหล่านี้จะแยกจากกันโดยใช้จุด . (dot) ตัวอย่าง เช่น
watt.seas.virginia.edu เมื่ออ่านจากซ้ายไปขวา จะเป็นการอ่านจากชื่อเฉพาะ ซึ่งเป็นชื่อเขตระดับต่ำสุดไปยังเขตในระดับสูงสุด คือ “watt” เป็นชื่อเฉพาะของคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เครื่องนี้เป็นเครื่องหนึ่งในจำนวน 600 เครื่องของมินิคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการอยู่ใน “seas” คือคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (School of Engineering and Applied Science) ณ มหาวิทยาลัยแห่งเวอร์จิเนีย “virginia” (University of Virginia) และในส่วนท้ายของชื่อเขตนี้เป็นเขตในระดับสูงสุด คือ “edu” ซึ่งรวมวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั้งหมดทั่วสหรัฐอเมริกาอยู่ในเขตนี้
• download บรรจุลง
การถ่ายโอนแฟ้มจากคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง หรือจากบริการข้อมูลเชื่อมตรง (on-line service) ที่ใดที่หนึ่ง มาใส่ในคอมพิวเตอร์ของเรา โดยผ่านทางโมเด็มและสายโทรศัพท์
• electronic mail (e-mail) ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-เมล์)
การใช้ข่ายงานในการรับและส่งข้อความ โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองแสตมป์ โดยที่ข้อความนั้นจะถึงผู้รับในทันที ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นระบบที่บุคคลส่งและรับข้อความระหว่างกัน โดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์โมเด็ม และข่ายงาน ที่เชื่อมโยงถึงกัน ข้อมูลที่ส่งจะเป็นได้ทั้งตัวอักษร ภายถ่าย ภาพกราฟิก และเสียง ผู้ส่งสามารถส่งข่าวสารไปยังผู้รับคนเดียว หรือหลายคนพร้อมกันก็ได้ โดยข่าวสารที่ส่งนั้นจะถูกเก็บไว้ในตู้ไปรษณีย์ (mail box) ที่กำหนดไว้สำหรับผู้ใช้ในข่ายงาน ผู้รับสามารถเปิดอ่านข่าวสาร เมื่อใดก็ได้ตามความสะดวก เมื่ออ่านแล้วสามารถพิมพ์ลงกระดาษ หรือจะลบทิ้งไปก็ได้
นอกจากการส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ในระบบข่ายงานธรรมดาแล้ว เรายังสามารถส่งทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นระบบของการเชื่อมโยงข่ายงานคอมพิวเตอร์ ที่กว้างขวางทั่วโลก ช่วยให้การส่ง และรับข้อความทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นไปได้ด้วยความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น electronic mail นี้นอกจากจะใช้อย่างย่อว่า “e-mail”
• File Transfer Protocol (FTP) กฎเกณฑ์การถ่ายโอนแฟ้ม (เอฟทีพี)
มาตรฐานในอินเทอร์เน็ต สำหรับการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูล โดยจะเป็นการบรรจุลง (download) แฟ้มข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ในอินเทอร์เน็ตมาไว้ในคอมพิวเตอร์ของเรา หรือจะเป็นการบรรจุขึ้น (upload) แฟ้มข้อมูลของเราส่งไปยังศูนย์บริการ ตามกฎเกณฑ์การถ่ายโอนแฟ้มก็ได้เช่นกัน FTP (พิมพ์ด้วยอักษรตัวใหญ่) จะเป็นชุดกฎเกณฑ์เฉพาะที่ประกอบด้วย ftp (พิมพ์ด้วยอักษรตัวเล็ก) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการติดต่อสื่อสารแบบไม่ประสานจังหวะดู file transfer protocol (ftp) ประกอบในการใช้กฎเกณฑ์การถ่ายโอนแฟ้มนี้ เราต้องเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้รับบริการ หรือเป็นสมาชิกเอฟทีพี โดยจะมีโปรแกรมใช้งาน ที่ช่วยให้เรา สามารถติดต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ในอินเทอร์เน็ตและแลกเปลี่ยนหรือถ่ายโอนแฟ้มระหว่างกันได้ ในการเข้าถึงคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นนั้น เราต้องมีชื่อลงบันทึกเข้า (login name) และรหัสผ่าน หลังจากนั้นเรา จะสามารถเข้าถึงระบบสารบบแฟ้มของคอมพิวเตอร์ และสามารถทำการบรรจุลง หรือบรรจุขึ้น แฟ้มต่างๆ ที่ต้องการได้ สิ่งยกเว้นอย่างหนึ่งได้แก่ เอฟทีพีที่ไม่ระบุชื่อ (anonymous FTP) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เป็นสมาชิกของเอฟทีพีสามารถเข้าถึงแฟ้มที่เก็บบันทึกได้ แต่ต้องพิมพ์คำว่า “anonymous” แทนชื่อลงบันทึกเข้า และต้องใส่เลขที่อยู่ ของไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์แทนรหัสผ่าน โปรแกรมสำรวจข้อมูลในเวิลด์ไวด์เว็บหลายๆ โปรแกรมสามารถช่วยให้สมาชิกเอฟทีพี สามารถบรรจุลงแฟ้มจากเอฟทีพีที่ไม่ระบุชื่อได้
• floppy disk แผ่นบันทึก
สื่อบันทึกที่ใช้ในการเก็บข้อมูลต่างๆ แผ่นบันทึกนี้มีลักษณะเป็นแผ่นกลมแบน อย่างอ่อนทำด้วยไมลาร์ (Mylar) และเคลือบด้วยสารแม่เหล็ก แผ่นกลมนี้จะบรรจุอยู่ในซองพลาสติกสี่เหลี่ยม อีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการขูดขีด แผ่นบันทึกชนิดนี้ เป็นสื่อบันทึกที่สามารถ เคลื่อนย้ายนำไปใช้ในที่ต่างๆ ได้ซึ่งต่างจากจานบันทึกแบบแข็ง เราจะใส่แผ่นบันทึกนี้ ในหน่วยขับแผ่นบันทึก ที่อยู่ในส่วนหน้า ของเครื่องคอมพิวเตอร์
• floppy disk drive หน่วยขับแผ่นบันทึก
กลไกการทำงานในลักษณะของ “หน่วยขับ” ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถอ่าน และเขียนข้อมูลบนแผ่นบันทึกได้ หน่วยขับแผ่นบันทึกจะมีอยู่ 2 ขนาด คือ ขนาด 3.5 นิ้ว และ 5.25 นิ้ว และมีความหนาแน่นต่างกัน เพื่อใช้ทำงานกับแผ่นบันทึกต่างชนิด หน่วยขับแผ่นบันทึกแบบความหนาแน่นสูง จะสามารถทำงานได้กับแผ่นบันทึกทั้งชนิดความหนาแน่นสูง และความหนาแน่นสองเท่า แต่หน่วยขับแบบความหนาแน่นสองเท่า จะใช้ได้แต่เฉพาะกับแผ่นบันทึกแบบความหนาแน่นสองเท่า แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
• gateway เกตเวย์, ประตูสื่อสาร
ช่องทางสำหรับเชื่อมต่อข่ายงานคอมพิวเตอร์ที่ต่างชนิดกัน ให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ โดยทำให้ผู้ใช้บริการของคอมพิวเตอร์หนึ่งหรือในข่ายงานหนึ่ง สามารถติดต่อเข้าสู่เครื่องบริการ หรือข่ายงานที่ต่างประเภทกันได้ ทั้งนี้โดยการใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า "บริดจ์" (bridges) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จะทำการแปลข้อมูลที่จำเป็นให้
ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ในอินเทอร์เน็ต สามารถแลกเปลี่ยนข้อความกับผู้ใช้ในคอมพิวเซิร์ฟ (CompuServe) ซึ่งเป็นบริษัทบริการข้อมูลเชื่อมทาแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ได้โดยทางเกตเวย์ และด้วยลักษณะเดียวกันนี้ ผู้อ่านในการเลือกอ่านในเว็บ สามารถเข้าถึงบริการของอาร์คี (Archie) ได้โดยผ่านทางหน้าเว็บ (Web page) ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นเกตเวย์ของอาร์คี ดู Archie ประกอบ
นอกจากนี้ในด้านของข่ายงาน เกตเวย์ยังเป็นอุปกรณ์ในการเชื่อมต่อข่ายงานบริเวณเฉพาะที่ (LAN) สองข่ายงานที่มีลักษณะไม่เหมือนกันให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ หรือจะเป็นการเชื่อมต่อข่ายงานบริเวณเฉพาะที่เข้ากับข่ายงานบริเวณกว้าง (WAN) หรือต่อเข้ากับมินิคอมพิวเตอร์ หรือต่อเข้ากับเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากเกตเวย์มีไมโครโพรเซสเซอร์ และหน่วยความจำของตนเอง
• gigabyte จิกะไบต์
หน่วยของการวัดมีค่าโดยประมาณ เท่ากับหนึ่งพันล้านไบต์ ซึ่งมีค่าจริง คือ 1,073,741,824 บิต มักใช้เพื่อระบุจำนวนของหน่วยความจำ หรือความจุของจานบันทึกหนึ่งจิกะไบต์มีค่าโดยประมาณเท่ากับหนึ่งพันเมกะไบต์
• hard disk จานบันทึกแบบแข็ง
อุปกรณ์บันทึกข้อมูลในลักษณะหน่วยความจำสำรอง ที่ประกอบด้วยจานบันทึกเคลือบ ด้วยสารแม่เหล็กหลายๆ แผ่นเรียกว่า “แพล็ตเตอร์” (platters) โดยซ้อนอยู่บนแกนหมุนเดียวกัน และเก็บตรึงอยู่ในหน่วยขับจานบันทึกแบบแข็งนี้ จะประกอบด้วยจานตั้งแต่ 2-5 แผ่น หัวอ่าน/บันทึก และส่วนประสานต่อทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยขับและคอมพิวเตอร์ ความจุของจานบันทึกจะมีตั้งแต่ 60 เมกะไบต์จนถึงหลายสิบ จิกะไบต์
• hardware ส่วนอุปกรณ์, ฮาร์ดแวร์
ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นอุปกรณ์ทางกายภาพ เช่น หน่วยขับจานบันทึก จอภาพ เมาส์ แผ่นวงจรอุปกรณ์รอบข้างและอุปกรณ์ต่างๆ ที่รวมกันทำงานเป็นระบบคอมพิวเตอร์ โดยแตกต่างจากซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกให้อุปกรณ์เหล่านี้ทำงาน
• home page โฮมเพจ, หน้าต้อนรับ
หน้าแรกของเอกสารในระบบข้อความหลายมิติ (hypertext) รวมถึงในเวิลด์ไวด์เว็บที่มุ่งหมายจะให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่โยงใยของเอกสารที่เกี่ยวข้อง โฮมเพจนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หน้าต้อนรับ” (welcome page) โดยเป็นหน้าที่บรรจุข้อมูลแนะนำเบื้องต้นทั่วๆ ไป และมีจุดเชื่อมโยงหลายมิติ (hyperlink) ไปยังเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างเช่น โฮมเพจขององค์การสหประชาชาติ จะมีชื่อองค์การ ตราสัญลักษณ์ และจุดเชื่อมโยงไปยังเอกสารอื่นๆ ในลักษณะของรูปต่างๆ เป็นต้น โฮมเพจที่มีการออกแบบอย่างดี จะบรรจุปุ่มสำรวจภายใน (internal navigation buttons) ซึ่งจะช่วยผู้ใช้ในการหาข้อมูลต่างๆ ที่โฮมเพจมีไว้ให้ ดู web และ welcome page ประกอบ
• HyperText Markup Language (HTML) ภาษาทำเครื่องหมายไฮเพอร์เท็กซ์ (เอชทีเอ็มแอล)
ชุดของแบบแผนในการทำเครื่องหมายส่วนต่างๆ ของข้อความเพื่อที่ว่าเมื่อเข้าถึงโปรแกรมที่เรียกว่า “พาร์เซอร์” (parser) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่แบ่งข้อมูลส่วนใหญ่ให้เล็กลงเพื่อง่ายต่อการแปลความหมาย ส่วนต่างๆ เหล่านั้นจะปรากฏขึ้นในรูปแบบต่างๆ กัน เอชทีเอ็มแอลเป็นภาษาในการทำเครื่องหมาย ที่อยู่เบื้องหลังเอกสารต่างๆ ในเวิลด์ไวด์เว็บและโปรแกรมที่แบ่งข้อมูลให้เล็กลง (parser programs) เพื่อเข้าถึงเอกสารเหล่านี้เรียกว่า “การเลือกอ่านในเว็บ” (Web browsers) เอชทีเอ็มแอล ยังรวมความสามารถ ในการที่ให้ผู้เขียนสามารถแทรกจุดเชื่อมโยงข้อมูลกันปรากฏขึ้นมาอีก
• HyperText Transport Protocol (HTTP) กฎเกณฑ์การส่งไฮเพอร์เท็กซ์ (เอชทีทีพี)
มาตรฐานอินเทอร์เน็ตที่สนับสนุน การแลกเปลี่ยนข้อมูลบนเวิลด์ไวด์เว็บ โดยการกำหนดที่ตั้งทรัพยากรที่สอดคล้องกัน (Uniform Resource Locators : URLs) และวิธีการใช้ในการสืบค้นข้อมูลที่ใดก็ได้ในอินเทอร์เน็ต โดยไม่เพียงแต่เอกสาร ในเว็บเท่านั้น แต่รวมถึงแฟ้มที่เข้าถึงได้ในกฎเกณฑ์การถ่ายโอนแฟ้ม (File Transfer Protocol : FTP), กลุ่มอภิปรายในยูสเนต, และรายการเลือกในโกเฟอร์ (Gopher) ด้วย นอกจากนี้ กฎเกณฑ์การส่งไฮเพอร์เท็กซ์ ยังให้ผู้เขียนในเว็บสามารถฝังจุดเชื่อมโยงหลายมิติ (hyperlink) ในเอกสารในเว็บได้อีกด้วย เมื่อคลิกแล้วจุดเชื่อมโยงจะเริ่มกระบวนการถ่ายโอน ข้อมูลซึ่งเข้าถึงและค้นคืนเอกสาร ให้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องทำสิ่งใดให้ยุ่งยากเลย (หรือกล่าวได้ว่าโดยไม่ต้องทราบว่า เอกสารนั้น มาจากที่ใด หรือเข้าถึงได้อย่างไร) กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือ กฎเกณฑ์การส่งไฮเพอร์เท็กซ์ ได้วางรากฐาน สำหรับการเข้าถึง อินเทอร์เน็ต อย่างโปร่งใส เข้าใจได้ง่ายมากนั่นเอง
• IDE drive หน่วยขับไอดีอี
จานบันทึกแบบแข็งที่บรรจุวงจรไฟฟ้าสำหรับควบคุมการทำงานอยู่ภายในตัวหน่วยขับเองเลยทีเดียว เมื่อมีอุปกรณ์ควบคุมนี้อยู่ในหน่วยขับแล้วจึงทำให้เราไม่จำเป็นต้องติดตั้งแผ่นวงจรอุปกรณ์ควบคุมแยกต่างหากอีกสำหรับหน่วยขับ หน่วยขับไอดีอีนี้รวมเอาความเร็วของหน่วยขับที่มีส่วนต่อประสานอุปกรณ์ขนาดเล็กเพิ่มประสิทธิภาพ (Enhanced Small Device Interface: ESDI) และส่วนต่อประสานระบบคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Small Computer System Interface: SCSI) รวมไว้ด้วยกันจึงทำให้เป็นที่นิยมใช้กันมากเนื่องจากความเร็ว ประสิทธิภาพ และราคาถูกกว่าการใช้หน่วยขับที่มีส่วนต่อประสานอุปกรณ์ขนาดเล็กเพิ่มประสิทธิภาพ (ESDI) หรือส่วนต่อประสานระบบคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (SCSI) เพียงอย่างเดียว
• Input Device อุปกรณ์รับเข้า
อุปกรณ์รอบข้างใดๆ ที่ช่วยให้เรานำข้อมูลเข้าไปในคอมพิวเตอร์ เช่น แผงแป้นอักขระ เมาส์ เครื่องกราดภาพ และโมเด็ม เป็นต้น
• Internet Relay Chat (IRC) กลุ่มผลัดเปลี่ยนพูดคุยในอินเทอร์เน็ต (ไออาร์ซี)
การพูดคุยในอินเทอร์เน็ตในเวลาจริง ที่ผู้ใช้ฝ่ายหนึ่งสามารถคุยกับผู้ใช้อีกฝ่ายหนึ่ง ที่อยู่คนละซีกโลกได้ทันที วิธีการนี้สร้างขึ้นโดย Jarkko Oikarinen แห่งประเทศฟินแลนด์ ในปี ค.ศ. 1988 การใช้กลุ่มผลัดเปลี่ยนพูดคุย ในอินเทอร์เน็ตนี้ ผู้ใช้ต้องมีโปรแกรมลูกค้าไออาร์ซีซึ่งจะแสดงรายการของ “ช่องสัญญาณ” (channels) ปัจจุบันของไออาร์ซี ชื่อของแต่ละช่องสัญญาณจะสร้างขึ้น โดยผู้ที่มีความรู้ทางด้านเทคนิคและให้ชื่อไว้ โดยบางครั้งช่องสัญญาณนั้น จะเป็นชื่อของเรื่อง ในขอบเขตที่สนใจ เช่น เรื่องตลกของเอลฟ์เควสต์ (Elfquest) ภายหลังจากเข้าร่วมในช่องสัญญาณแล้ว ถ้าเห็นว่ามีผู้อื่นกำลังพิมพ์ข้อความ อยู่บนจอภาพ เราสามารถพิมพ์คำตอบ หรือข้อความของเราไปได้อย่างรวดเร็ว และบ่อยครั้งอาจจะเกิดความล่าช้า ให้สับสนอยู่บ้างก็ตาม
• Intranet อินทราเนต
การใช้เทคโนโลยีของอินเทอร์เน็ตและเวิลด์ไวด์เว็บ ให้จำกัดอยู่ภายในองค์กร เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ใช้ในการค้นหา จัดการ และความร่วมมือระหว่างกันในการสร้าง และเผยแพร่สารสนเทศ รวมถึงการจัดการเอกสารขนาดใหญ่ ที่เก็บไว้ในองค์กรนั้น หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ อินทราเนตเป็นที่ตั้งเว็บที่อยู่ภายในองค์กร หรือหน่วยงานที่ทำงาน ในลักษณะของข่ายงานที่ร่วมมือกัน โดยมีการใช้กฎเกณฑ์เดียว กับที่ใช้ในอินเทอร์เน็ต
ปกติแล้วในองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ จะมีข่ายงานบริเวณเฉพาะที่ (LAN) เป็นของตนเองอยู่แล้วโดยแบ่งเป็นหลายๆ ข่ายงาน แต่ข่ายงานนั้นจะสามารถใช้ได้เฉพาะเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ดังนั้นเมื่อมีการนำข่ายงานบริเวณเฉพาะ ที่เหล่านั้นมาเชื่อมโยงกันในลักษณะของอินทราเนต ก็จะทำให้บุคคลในแต่ละข่ายงานมีศักยภาพ ในการติดต่อสื่อสารกันได้เพิ่มมากขึ้น โดยแทนที่จะใช้โครงแบบของข่ายงานแบบเดิม ผู้ใช้ในอินทราเนตจะทำการเชื่อมต่อ กับที่ตั้งเว็บภายในหน่วยงานนั้นได้ และยังสามารถทำงานต่างๆ ภายในที่ตั้งเว็บนั้นได้ด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้โดยง่าย หน่วยงาน หรือบริษัท ที่นำโครงแบบของอินทราเนต มาใช้จะสามารถประหยัดเงินได้เป็นอย่างมากในด้านต่างๆ เนื่องจากสามารถ ให้บุคคลในหน่วยงานนั้น สามารถเข้าถึงสารสนเทศภายในหน่วยงาน และทั่วโลกได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
• JAVA ภาษาจาวา
ภาษาการเขียนโปรแกรมเชิงวัตถุ (object-oriented programming language) ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทซัน ไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems) เพื่อใช้เขียนโปรแกรมในอินเทอร์เน็ต จาวาเป็นภาษาที่มีโครงสร้างที่พัฒนามาจาก ภาษาซี++ โดยตัดส่วนที่ไม่จำเป็นทิ้งไปจึงทำให้มีขนาดเล็กและใช้ง่าย โปรแกรมที่เขียนด้วยภาษาจาวาซึ่งเรียกว่า “แอปเพล็ต” (Applet) จะสามารถทำงานได้กับคอมพิวเตอร์ทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบไอบีเอ็ม พีซี ระบบแม็กคินทอช หรือระบบยูนิกซ์
• Joint Photographic Experts Group (JPEG) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภาพ (เจเพ็ก)
คณะกรรมการของผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก ที่สนับสนุนร่วมกันโดยองค์การระหว่างประเทศ ว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) และคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศเกี่ยวกับ โทรเลขและโทรศัพท์ (CCITT) ในการพัฒนามาตรฐานกราฟิกแบบเจเพ็ก (JPEG graphics)
• jumper ตัวข้าม
ตัวเชื่อมต่อทางไฟฟ้าที่ทำให้ผู้ใช้สามารถเลือกโครงแบบพิเศษเฉพาะบนแผ่นวงจรไฟฟ้าเราสามารถติดตั้งตัวเชื่อมต่อที่มีลักษณะเป็นพลาสติกสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ได้โดยการกดลงไปบนหมุด 2 ตัว หรือมากกว่าที่โผล่ขึ้นมาบนแผ่นวงจร การใส่ตัวข้ามจะช่วยให้วงจรไฟฟ้าเสร็จสมบูรณ์ตามโครงสร้างที่เราต้องการจะใช้
• key แป้น, ป้อน (ข้อมูล), กุญแจ
ใช้ได้ 3 ความหมาย ดังนี้
1. แป้นที่อยู่บนแผงแป้นอักขระ
2. การกดแป้นบนแผงแป้นอักขระเพื่อป้อนข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์
3. กุญแจซึ่งเป็นคำ หรือรหัส เพื่อใช้ในการถอดรหัสข้อความ ที่ทำการเข้ารหัสไว้เพื่อให้สามารถอ่านได้
• keyboard แผงแป้นอักขระ
อุปกรณ์ป้อนข้อมูลที่มีลักษณะคล้ายแผงแป้นพิมพ์ดีด แผงแป้นอักขระจะประกอบด้วยชุดของแป้นตัวอักขระ ตัวเลข เครื่องหมาย สัญลักษณ์ และแป้นควบคุม เมื่อกดแป้นอักขระลงไป สัญญาณรหัสนำเข้าข้อมูล จะถูกส่งไปยังคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะสะท้อนสัญญาณนั้น ให้ทราบโดยการแสดง ผลบนจอภาพ
• log on ลงบันทึกเปิด
กระบวนการของการสร้างการติดต่อ หรือการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์รอบข้าง การลงบันทึกเปิดในดอส หมายถึง กระบวนการของการเปลี่ยนไปยังหน่วยขับอื่น โดยการพิมพ์ตัวอักษร ของหน่วยขับและเครื่องหมาย : (colon) แล้วกดแป้นป้อนเข้า (Enter key) แต่ถ้าเป็นในข่ายงาน จะหมายถึง การที่เราต้องพิมพ์รหัสผ่าน เพื่อลงบันทึกเปิดเข้าไปใช้ในข่ายงานนั้น
• login name ชื่อลงบันทึกเข้า
ชื่อเฉพาะที่ผู้บริหารระบบกำหนดให้แก่ผู้ใช้แต่ละคน ในข่ายงานเพื่อใช้ในการระบุว่าเป็นใคร เราต้องพิมพ์ชื่อ และรหัสผ่านเพื่อเข้าไปในระบบได้
• mailbox ตู้ไปรษณีย์
เนื้อที่ในการเก็บบันทึกในไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้จัดไว้เพื่อเก็บข้อความไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ของผู้ใช้แต่ละคน
• mainframe เมนเฟรม
คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการทำงานสูง ออกแบบมาสำหรับระบบหลายผู้ใช้ (multiuser system) จึงเหมาะสำหรับใช้ในหน่วยงานขนาดใหญ่ แต่เดิมนั้นคำว่า "mainframe" หมายถึงตู้เหล็กสำหรับใส่หน่วยประมวลผลกลางของคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆ คำนี้ถูกนำมาใช้โดยทั่วไปให้หมายถึง คอมพิวเตอร์ศูนย์กลางขนาดใหญ่ ที่พัฒนาในปลายทศวรรษ 1950s มาจนถึงทศวรรษ 1960s เพื่อใช้สนองความต้องการในการทำบัญชี และการจัดการสารสนเทศขององค์การขนาดใหญ่ คอมพิวเตอร์เมนเฟรมขนาดใหญ่ที่สุด จะสามารถทำงานร่วมกับเครื่องปลายทางใบ้ (dumb terminal) ได้เป็นพันๆเครื่อง และใช้หน่วยเก็บรองเป็นจำนวน หลายล้านไบต์ (terabytes) เครื่องเมนเฟรมได้รับความนิยมใช้กันมาก ในระยะทศวรรษ 1970s-1980s ในขณะที่ไมโครคอมพิวเตอร์ ยังมีราคาสูงอยู่มาก แต่ภายหลังจากที่ไมโครคอมพิวเตอร์ มีราคาลดต่ำลง ความนิยมใช้ในเครื่องเมนเฟรมจึงลดน้อยลงตามลำดับ เนื่องจากบริษัท และบุคคลทั่วไป หันมานิยมใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ และระบบข่ายงานกันมากขึ้น
• microcomputer ไมโครคอมพิวเตอร์
เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยคำนวณ, หน่วยตรรกะ (ALU) และหน่วยควบคุมที่บรรจุอยู่บนวงจรรวม ที่เรียกว่า "ไมโครโพรเซสเซอร์" เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซึ่งก็คือไมโครคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีหน่วยประมวลผลกลาง เป็นไมโครโพรเซสเซอร์-ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรก ในปลายทศวรรษ 1970s นั้น คอมพิวเตอร์นี้มีการออกแบบมา ให้เป็นเครื่องที่ใช้เพียงคนเดียว ส่วนคอมพิวเตอร์สำหรับระบบหลายผู้ใช้ (multiuser system) จะเป็นมินิคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่และเครื่องเมนเฟรม ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา ความแตกต่างระหว่างมินิคอมพิวเตอร์ (ที่มีผู้ใช้หลายคน) และไมโครคอมพิวเตอร์ (ที่มีผู้ใช้เพียงคนเดียว) ค่อนข้างจะไม่ชัดเจนนัก ไมโครคอมพิวเตอร์หลายๆรุ่น จะมีสมรรถนะ ในการทำงานอย่างยอดเยี่ยมดีกว่าเครื่องเมนเฟรมเมื่อ 10 ปีที่แล้วเป็นอย่างมาก และไมโครคอมพิวเตอร์ ในระดับเลิศ (high-end) สามารถทำงานสนองวัตถุประสงค์ใหม่ๆ หลายประการของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี
• motherboard แผงหลัก
แผงวงจรขนาดใหญ่ที่บรรจุหน่วยประมวลผลกลาง หน่วยความจำ (RAM) และช่องเสียบขยายมากมายหลายช่องเพื่อให้เสียบแผ่นวงจรย่อยเพิ่มเติม
• network ข่ายงาน, เครือข่าย, โครงข่าย, วงจรข่าย
ระบบการสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่สร้างขึ้นโดยการเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไป โดยใช้แผ่นวงจรต่อประสานข่ายงาน และสายเคเบิล และทำงานด้วยระบบปฎิบัติการ ข่ายงาน (NOS) ข่ายงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในแต่ละข่ายงาน จะแตกต่างกันไป ตามลักษณะ และส่วนประกอบดังนี้
ข่ายงานบริเวณเฉพาะที่ (local area network: LAN) เป็นข่ายงานที่เล็กที่สุด โดยอาจมีคอมพิวเตอร์เพียง 2-3 เครื่องและอุปกรณ์รอบข้างที่ราคาไม่แพงนัก เช่น เครื่องพิมพ์เลเซอร์เพียง 1 เครื่อง ในขณะที่ข่ายงานบางแห่งอาจมีคอมพิวเตอร์มากกว่า 75 เครื่องขึ้นไปก็ได้ ข่ายงานบริเวณกว้าง (wide area network: WAN) เป็นข่ายงานที่ขนาดใหญ่ขึ้น โดยใช้สายโทรศัพท์หรืออุปกรณ์การสื่อสารอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ ที่อยู่ห่างไกลกันตั้งแต่ 10-1,000 ไมล์ให้เชื่อมโยงถึงกันได้
นอกจากนี้ ข่ายงานยังมีความแตกต่างกัน ในเรื่องของลักษณะรูปทรง เช่น ข่ายงานแบบดาว ในเรื่องของสถาปัตยกรรม เช่น แบบผู้รับบริการ-ผู้ให้บริการ (client-server) และในเรื่องของมาตรฐาน การสื่อสาร เช่น มาตรฐานแอปเปิลทอล์ก (Apple Talk) อีเทอร์เนต (Ethernet) หรือวงแหวนโทเค็น (token ring) เหล่านี้เป็นต้น
• network operating system (NOS) ระบบปฏิบัติการข่ายงาน (โนส)
ซอฟต์แวร์ระบบของข่ายงานบริเวณเฉพาะที่ (LAN) ที่รวบรวมฮาร์ดแวร์ส่วนประกอบต่างๆ ของข่ายงาน ซึ่งเพียงพอสำหรับเชื่อมต่อสถานีงาน ตั้งแต่ 50 สถานีขึ้นไป ตามปรกติแล้วจะรวมลักษณะต่างๆ อาทิ เช่น ส่วนต่อประสานการบริหารงานในลักษณะการทำงานด้วยตัวเลือก การสำรองด้วยแถบบันทึกของซอฟต์แวร์เครื่องบริการแฟ้ม การกำหนด การรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกในการใช้เครื่องพิมพ์ร่วมกัน การเก็บโปรแกรมใช้งาน และฐานข้อมูล ไว้ในส่วนกลางการบันทึกเข้าระยะไกลด้วยโมเด็ม และสนับสนุนการทำงานสำหรับสถานีงาน ที่ไม่มีจานบันทึก เหล่านี้เป็นต้น
ระบบปฏิบัติการข่ายงานจะช่วยสร้าง และบำรุงรักษาการเชื่อมต่อ ระหว่างสถานีงานทั้งหลาย กับเครื่องบริการแฟ้ม ทั้งนี้เนื่องจากการเชื่อมต่อทางกายภาพ แต่เพียงอย่างเดียวจะไม่เป็นการเพียงพอ ในการสนับสนุน การทำงานในข่ายงานระบบปฏิบัติการนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ซอฟต์แวร์เครื่องบริการแฟ้ม และซอฟต์แวร์สถานีงาน
• on-line ในสาย, เชื่อมตรง
การเชื่อมต่อโดยตรงกับคอมพิวเตอร์และสามารถใช้งานได้ ตัวอย่างเช่น การต่อสายต่างๆ เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์และสามารถเปิดใช้งานได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ในการสื่อสารข้อมูล จะหมายถึง การเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่อยู่ในระยะไกล ตัวอย่างเช่น การเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์แม่ข่ายงานรับ-ให้บริการ เป็นต้น หรือถ้าเป็นในศูนย์รวมข่าว (BBS) จะอยู่ในภาวะในสายเมื่อผู้ใช้สามารถใช้แฟ้มหรือโปรแกรมได้
• overwrite บันทึกทับ
การบันทึกข้อมูลลงบนจานแม่เหล็ก ในเนื้อที่เดียวกันกับข้อมูลอื่น ที่บันทึกอยู่แล้ว จึงเป็นการทำลายข้อมูลเดิมนั้นให้หายไป นอกจากนี้ ยังหมายถึงการแทนที่แฟ้มที่มีอยู่เดิม ด้วยแฟ้มประเภทอื่นในชื่อเดียวกัน เรามีทางเลือกในการบันทึกทับแฟ้ม ถ้าเรากำลังคัดลอกแฟ้มลงจานบันทึก หรือสารระบบที่บรรจุแฟ้มที่มีชื่อเดียวกัน
• password รหัสผ่าน
รหัสลับที่ใช้ในการจำกัดการเข้าถึงบัญชี ช่องสัญญาณ แฟ้ม ฯลฯ เพื่อผู้ใช้ที่มีสิทธิ์ที่มีรหัสผ่านที่ถูกต้องเท่านั้น จึงจะเข้ามาใช้ในคอมพิวเตอร์ หรือข่ายงานนั้นได้ นอกจากนี้ รหัสผ่านยังเป็นเครื่องมือรักษาความปลอดภัย เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์ของผู้ใช้โปรแกรม หรือข่ายงาน และกำหนดอภิสิทธิ์ของแต่ละคน เช่น การอ่านแต่เพียงอย่างเดียว การอ่านและเขียนหรือการคัดลอกแฟ้ม เป็นต้น
เราไม่ควรใช้รหัสผ่านที่เป็นคำจริงๆ หรือเป็นรหัสที่เดาได้ง่าย เช่น วันเกิดหรือชื่อสัตว์เลี้ยงของเรา รหัสผ่านที่ดีควรมีทั้งอักษรตัวพิมพ์เล็ก ตัวพิมพ์ใหญ่และตัวเลขปนอยู่ด้วย จะทำให้ผู้อื่นเดาได้ยาก เช่น BYpl5tH เป็นต้น
• power supply แหล่งจ่ายไฟ
อุปกรณ์ที่จัดหาพลังงานให้กับเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า ในระบบคอมพิวเตอร์นั้น แหล่งจัดหาพลังงานไฟฟ้า ภายในคอมพิวเตอร์จะแปลง กระแสไฟมาตรฐานเอซี (AC) ให้เป็นกระแสไฟเอซีโวลเทจต่ำลง เพื่อให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้
• processing การประมวลผล
การกระทำการของคำสั่งโปรแกรมโดยหน่วยประมวลผลกลาง ในการแปลงข้อมูล เช่น การเรียงลำดับ และการคิดคำนวณ เป็นต้น
prompt ตัวพร้อม. ข้อความพร้อมรับ
สัญลักษณ์ หรือ วลีที่ปรากฏบนจอภาพ เพื่อบอกเราว่าคอมพิวเตอร์พร้อม ที่จะรับข้อมูลนำเข้าแล้ว ตัวพร้อมที่ใช้ในดอสจะปรากฏดังนี้ c:\>
• random-access memory (RAM) หน่วยความจำเข้าถึงโดยสุ่ม (แรม)
หน่วยความจำเข้าถึงโดยสุ่ม หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า “แรม” เป็นหน่วยความจำหลักของคอมพิวเตอร์ ที่ใช้เก็บคำสั่งและข้อมูลเพื่อสามารถเข้าถึงโดยตรง ในการควบคุมการทำงาน ของหน่วยประมวลผลกลาง โดยผ่านทางบัสข้อมูลภายนอกความเร็วสูง
ชื่อแรมมักจะเรียกว่าหน่วยความจำอ่าน/บันทึกเพื่อเป็นการแบ่งแยกจากหน่วยความจำอ่านอย่างเดียวหรือรอม (ROM) ซึ่งเป็นส่วนประกอบ อีกส่วนหนึ่ง ของหน่วยเก็บหลัก (primary storage) ของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในแรมนี้เองที่หน่วยประมวลผลกลาง สามารถบันทึก และอ่านข้อมูลโปรแกรมส่วนมาก จะจัดส่วนของแรมไว้ต่างหาก เพื่อเป็นเนื้อที่ทำงานชั่วคราว สำหรับข้อมูลของเรา เพื่อที่เราจะสามารถบันทึก ทับใหม่ ได้เท่าที่ต้องการจนกว่าข้อมูลนั้น จะถูกนำไปพิมพ์หรือเก็บในหน่วยเก็บรอง (secondary storage) เช่น จานบันทึกแบบแข็ง หรือแผ่นบันทึก ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในแรมจะหายไปได้เมื่อมีการปิดเครื่อง หรือเมื่อกระแสไฟดับ ดังนั้น เราจึงต้องเก็บบันทึกงานที่ทำ อยู่ตลอดเวลาและก่อนที่จะปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันการสูญหายของข้อมูล
• read-only memory (ROM) หน่วยความจำอ่านอย่างเดียว (รอม)
หน่วยความจำหลักของคอมพิวเตอร์ สำหรับเก็บคำสั่งไว้อย่างถาวร และยังคงมีคำสั่งเหล่านี้เก็บอยู่ ถึงแม้ไฟจะดับหรือปิดเครื่องแล้วก็ตาม รอมจะบรรจุโปรแกรมระบบที่สำคัญไว้ โดยที่เราหรือคอมพิวเตอร์เอง ก็ไม่สามารถลบทิ้งได้ ทั้งนี้เพราะเป็นชิปที่ผู้ผลิตได้บรรจุคำสั่ง ไว้อย่างถาวร เนื่องจากหน่วยความจำภายใน ของคอมพิวเตอร์จะว่างเปล่า เมื่อมีการเปิดเครื่อง จึงทำให้คอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานใดๆ ได้ ถ้าไม่ให้คำสั่งในการเริ่มต้น ซึ่งคำสั่งเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในรอมนั่นเอง
• README file แฟ้มอ่านก่อน
แฟ้มข้อความที่มักรวมอยู่ในแผ่นติดตั้ง ของโปรแกรมใช้งาน และมักจะบรรจุสารสนเทศ และรายละเอียด ที่มีการเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้าย โดยมิได้พิมพ์ไว้ในเอกสาร คู่มือของโปรแกรม เราควรจะอ่านแฟ้มนี้ก่อน ที่จะเริ่มใช้โปรแกรม ในครั้งแรก เพื่อให้ทราบว่า มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดบ้าง ในโปรแกรมนั้น ที่แตกต่างไปจากในเอกสารกำกับโปรแกรม
• read-only อ่านอย่างเดียว
ความสามารถในการแสดงผลหรือใช้อ่านโดยไม่สามารถลบแฟ้มนั้นได้แต่สามารถแก้ไขข้อความได้ถ้ามีการแก้ไข จัดรูปแบบหรือมีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วจะต้องเก็บบันทึกแฟ้มนั้นในชื่อใหม่โดยไม่สามารถใช้ชื่อเดิมได้
• reboot ปลุกเครื่องซ้ำ
การบรรจุซ้ำระบบปฏิบัติการ ของคอมพิวเตอร์ภายหลัง มีความขัดข้องในการทำงาน เกิดขึ้น ถ้าเป็นการทำงานในดอส เราสามารถปลุกเครื่องซ้ำ ได้โดยการกดแป้น Ctrl+Alt+Del ในลักษณะปลุกเครื่องอุ่น (warm boot) หรือจะกดปุ่มตั้งใหม่ (reset) บนเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ได้เช่นกัน


• search engine เครื่องค้นหา
โปรแกรมใดๆ ที่กำหนดตำแหน่งที่ตั้งสารสนเทศ ที่ต้องการในฐานข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริการค้นหาในอินเทอร์เน็ตที่ทำให้เราสามารถค้นหาสารสนเทศ บนอินเทอร์เน็ตได้ การใช้เครื่องค้นหานี้ทำได้ โดยการพิมพ์คำสำคัญ คำหนึ่งหรือหลายคำลงไป ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นรายการ ของเอกสารหรือแฟ้ม ที่บรรจุคำต่างๆ ที่เป็นคำสำคัญนั้นปรากฏอยู่ในชื่อเรื่องหรือเนื้อหาในเรื่อง ฐานข้อมูลต่างๆ ของเครื่องค้นหาของอินเทอร์เน็ตส่วนมาก จะบรรจุเอกสารเวิลด์ไวด์เว็บเอาไว้ และบางครั้งจะมีรายการ ที่พบในรายการเลือกในโกเฟอร์ (Gopher) และกฎเกณฑ์การถ่ายโอนแฟ้ม (FTP) เอาไว้ด้วย
• secondary storage หน่วยเก็บรอง
สื่อในการเก็บบันทึกข้อมูล เช่น จานบันทึกแบบแข็ง แผ่นบันทึก แผ่นซีดี-รอม และเทปแม่เหล็ก ฯลฯ ที่สามารถเก็บข้อมูลไว้ได้อย่างคงทนกว่า หน่วยเก็บหลักอันได้แก่ หน่วยความจำอ่านอย่างเดียว (ROM) และหน่วยความจำเข้าถึงโดยสุ่ม (RAM) เนื่องจากข้อมูลในหน่วยเก็บหลัก จะหายไปเมื่อไฟฟ้าดับ หรือเมื่อปิดเครื่อง แต่ข้อมูลที่เก็บอยู่ในหน่วยเก็บรองนี้ จะไม่หายไปเมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
• Secure HyperText Transport Protocol (Secure HTTP) กฎเกณฑ์การส่งไฮเพอร์เท็กซ์อย่างปลอดภัย
ส่วนขยายของกฎเกณฑ์ในการส่งไฮเพอร์เท็กซ์ ของเวิลด์ไวด์เว็บที่สนับสนุนให้มีการติดต่อ ทางการค้า ได้อย่างปลอดภัยบนเว็บกฎเกณฑ์นี้จะจัด ให้มีการสนับสนุน 2 วิธีการ คือ โดยการรับประกันแก่ผู้ขายว่าลูกค้า ที่ซื้อสินค้านั้นเป็นคนๆ นั้นจริงตามที่อ้างถึง และโดยการเข้ารหัสลับ สารสนเทศบางอย่าง เช่น หมายเลขบัตรเครดิต เพื่อที่จะไม่ถูกดักนำไปใช้ในระหว่างการส่งผ่านนั้น
• service provider ผู้จัดหาบริการ
องค์กรที่จัดหาเพื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือข่ายงานบริเวณกว้าง (WAN) ผู้จัดหาบริการบางแห่ง จะเป็นบริษัทที่ไม่แสวงหากำไร เช่น ฟรีเนตส์ (freenets) ที่ให้คนทั่วไปรับบริการได้ และบริษัทที่แสวงหาผลกำไร ในประเทศไทยมีบริษัทผู้จัดหาบริการอินเทอร์เน็ต อยู่มากมายหลายแห่ง เช่น บริษัทเคเอสซี คอมเมอร์เชียล อินเทอร์เน็ต จำกัด และ บริษัท อินโฟนิวส์ จำกัด เป็นต้น
• teleconference การประชุมทางไกล
การประชุมที่ผู้เข้าร่วมประชุมอยู่กันคนละสถานที่ โดยอาจอยู่ต่างเมืองหรือต่างประเทศก็ได้ แต่สามารถประชุมร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบกันได้ โดยใช้อุปกรณ์โทรคมนาคม อุปกรณ์ที่ใช้อาทิเช่น ลำโพง เครื่องขยายเสียง จอภาพ คอมพิวเตอร์ เครื่องอ่านพิกัดภาพ และโทรศัพท์ เป็นต้น การส่งข้อความและภาพสามารถส่งได้ ทั้งทางสายโทรศัพท์ คลื่นไมโครเวฟ และการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม โดยการบีบอัดภาพ และข้อความไปยังสถานที่ประชุมต่างๆ ได้ในชั่วพริบตาทำให้ผู้เข้าร่วมประชุม สามารถเห็นภาพ และข้อความต่างๆ เพื่ออภิปรายร่วมกันได้
• Telnet เทลเนต
กฏเกณฑ์ในอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต สามารถลงบันทึกเปิดในคอมพิวเตอร์ เครื่องอื่นที่เชื่อมโยงกันในอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงคอมพิวเตอร์ ที่ไม่สามารถสื่อสารโดยตรงกับกฏเกณฑ์ควบคุมการส่งผ่านตามมาตรฐานอินเทอร์เน็ต (TCP/TP) ได้ โดยที่เทลเนตจะสร้างคอมพิวเตอร์เครื่องปลายทางเรียกว่า "เครื่องปลายทางเสมือนข่ายงาน" (network virtual terminal) ขึ้นมา ความสามารถนี้จะใช้กันบ่อย เพื่อให้ติดต่อสื่อสาร กับระบบศูนย์รวมข่าว (BBS) และเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ได้ ตัวอย่างเช่น เรามักจะเห็นจุดเชื่อมโยงหลายมิติ (hyperlinks) ไปยังเทลเนตอยู่บ่อยๆ ในขณะที่เลือกอ่าน ในเวิลด์ไวด์เว็บ ถ้าเราคลิกที่จุดเชื่อมโยงนั้น
• text ข้อความ
ข้อมูลที่ประกอบด้วยมาตรฐานอักขระแอสกี (ASCII characters) โดยไม่มีรหัสจัดรูปแบบอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น ไม่มีการทำให้เป็นตัวหนา หรือตัวเอน เป็นต้น
• text file แฟ้มข้อความ
แฟ้มที่มีเพียงอักขระแอสกีเท่านั้นโดยไม่มีรหัสควบคุมหรืออักขระจากชุดอักขระขยายอยู่ในแฟ้มนั้นด้วย
• Uniform Resource Locator (URL) ที่ตั้งทรัพยากรสอดคล้องกัน (ยูอาร์แอล)
หนึ่งในสองประเภทของตัวระบุทรัพยากร สอดคล้องกัน (URI) ซึ่งเป็นสายของอักขระ ที่ระบุชัดถึงประเภท และที่ตั้งของทรัพยากรในอินเทอร์เน็ต หรือจะกล่าวอย่างง่ายๆ ก็คือ การบอกให้ทราบถึงชื่อเอกสาร สารบบ ที่ตั้งหรือแม่ข่ายและระบุว่าเป็นเอกสารในเวิลด์ไวด์เว็บนั่นเอง ที่ตั้งทรัพยากรสอดคล้องกัน จะเป็นตัวบอกให้การเลือกอ่านในเว็บทราบว่าเราต้องการติดต่อไปยังที่ตั้งเว็บใด และชี้ด้วยว่าเราต้องการดูแฟ้มใด ตัวอย่างเช่น ที่ตั้งทรัพยากรสอดคล้องกันดังต่อไปนี้
http://www.wolverine.virginia.edu/-toros/winerefs/merlot.html
http:// ระบุถึงเอกสารเวิลด์ไวด์เว็บ
www.wolverine.virqinia.edu ชี้ให้ทราบถึงชื่อเขตของคอมพิวเตอร์ที่เก็บเอกสารนั้นอยู่
–toros/winerefs อธิบายอย่างชัดแจ้งถึงตำแหน่งของเอกสารภายในโครงสร้างสารระบบ
merlot.html ชื่อเอกสารและส่วนขยายแฟ้ม
• Update ปรับ (ให้เป็นปัจจุบัน)
การเปลี่ยนแปลงข้อมูลในแฟ้ม ให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน หรือการเปลี่ยนโปรแกรม ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ให้เป็นโปรแกรมรุ่นใหม่ เช่น เปลี่ยนจากการที่ใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์ เวิร์ด รุ่น 6.0 ไปเป็นรุ่น 7.0 เพื่อใช้ในวินโดวส์ 9.5 เป็นต้น นอกจากนี้ในการจัดการฐานข้อมูล ยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลง เพิ่ม หรือลบระเบียนข้อมูล เพื่อปรับให้เป็นข้อมูลปัจจุบันที่ถูกต้อง
• validation การตรวจสอบความสมเหตุสมผล
การพิสูจน์โปรแกรมว่าได้ทำงานตามหน้าที่แล้ว นักเขียนโปรแกรมส่วนมากจะชอบใช้คำนี้มากกว่าคำ "testing" หรือ "debugging" เนื่องจากเป็นคำที่สร้างสรรค์มากกว่า
• web เว็บ
ชุดของเอกสารที่เกี่ยวข้องกัน ในเวิลด์ไวด์เว็บหรือในระบบไฮเพอร์เท็กซ์ (hypertext) ใดๆ ที่เอกสารเหล่านั้นมารวมอยู่ด้วยกัน และมีการนำเสนอในลักษณะไฮเพอร์เท็กซ์ หรือข้อความหลายมิติ โดยที่เอกสารเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องเก็บอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ เดียวกันก็ได้ แต่จะมีการเชื่อมโยงระหว่างกัน อย่างเห็นได้ชัดเจน และมีการสำรวจภายในเอกสารด้วยปุ่มสำรวจ (navigation buttons) โดยปกติแล้วเว็บจะรวมเอาหน้าต้อนรับ (welcome page) ที่ให้บริการเหมือนกับเอกสารระดับบนที่เรียกว่า “home page” ของเว็บไว้ด้วย
• Web browser การเลือกอ่านในเว็บ
โปรแกรมสำหรับดำเนินการบนคอมพิวเตอร์ ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต และจัดหาการเข้าถึงไปยังเวิลด์ไวด์เว็บ การเลือกอ่านในเว็บจะมีอยู่ 2 ประเภท คือ การเลือกอ่านเฉพาะข้อความ (text-only browsers) และการเลือกอ่านแบบกราฟิก (graphical Web browsers) ดังเช่นการใช้ในโปรแกรมเอ็นซีเอสเอ มอเซอิก (NCSA Mosaic) และเนตสเคป นาวิเกเทอร์ (Netscape Navigator) การเลือกอ่านแบบกราฟิก จะเป็นที่นิยมใชักันมากกว่าเนื่องจาก เราสามารถเห็นภาพกราฟิกแบบอักษรและการจัดหน้าเอกสารได้
• Web site ที่ตั้งเว็บ
ระบบคอมพิวเตอร์ในเวิลด์ไวด์เว็บที่ดำเนินงาน เครื่องบริการเว็บ และได้รับการจัดไว้สำหรับเอกสารในเว็บด้วย
• World Wide Web (WWW) เวิลด์ไวด์เว็บ
ระบบข้อความหลายมิติหรือไฮเพอร์เท็กซ์ (hypertext system) ทั่วโลกที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ ในการส่งผ่านข้อมูลในระบบไฮเพอร์เท็กซ์นี้เราสามารถ ทำการสำรวจได้โดยใช้จุดเชื่อมโยงหลายมิติ (hyperlink) เพื่อแสดงเอกสารอีกฉบับหนึ่งที่เกี่ยวข้องขึ้นมาให้อ่าน โดยที่เอกสารนั้น จะบรรจุจุดเชื่อมโยงไว้เช่นกัน สิ่งที่ทำให้เวิลด์ไวด์เว็บ เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น และมีประโยชน์ก็เนื่องจากเอกสารต่อไป ที่เราเห็นนั้นอาจเป็นเอกสาร ที่อยู่ในเครื่องถัดไป หรืออยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งก็ได้ เวิลด์ไวด์เว็บเป็นสิ่งที่ทำให้อินเทอร์เน็ต ใช้งานง่ายขึ้นอีกเป็นอันมาก
• Yahoo ยาฮู
โครงสร้างแบบต้นไม้ที่ได้รับความนิยมใช้กันมากในเวิลด์ไวด์เว็บ ที่สร้างขึ้นโดย เดวิด ฟิโล (David Filo) และเจอรี แยง (Jerry Yang) แห่งแผนกวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสแทนฟอร์ด (Department of Computer Science at Stanford University) ยาฮูเป็นสารบบทรัพยากรของเว็บ ที่มีเอกสารของเว็บอยู่ถึง 35,000 ฉบับในขณะนี้ ในปี ค.ศ. 1995 ยาฮูได้ย้ายออกจากมหาวิทยาลัยสแทนฟอร์ด ไปสู่ www.yahoo.com ที่ได้รับการโฆษณาเผยแพร่ จนเป็นที่รู้จักใช้กันทั่วโลก โดยจะมีการค้นหาโดยใช้ยาฮูประมาณ 10 ล้านครั้งในแต่ละสัปดาห์
• Zip drive ซิปไดรฟ์
หน่วยเก็บสำรองในลักษณะหน่วยขับขนาดเล็กแบบเคลื่อนย้ายได้ของบริษัทไอโอเมกา (Iomega) โดยใช้ร่วมกับแผ่นบันทึกขนาด 3.5 นิ้ว (แต่มีความหนากว่าแผ่นบันทึก ทั่วไปเล็กน้อย จึงทำให้ไม่สามารถใช้ร่วมกับหน่วยขับของเครื่องคอมพิวเตอร์ปรกติได้) แผ่นบันทึกนี้มีความสามารถ ในการบันทึกข้อมูลได้ถึง 100 เมกะไบต์ และในขณะนี้ได้มีหน่วยขับชนิดใหม่ ออกสู่ตลาดเรียกว่า "แจซไดรฟ์" (Jaz drive) โดยใช้กับกล่องคาทริดจ์ที่บันทึกข้อมูลได้ถึง 1 จิกะไบต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น